A-C-01<br>Expired::
A-C-02<br>Expired::
A-C-03<br>Expired::
 
[Interview & Review]
 
อาแตงโม อีกหนึ่งตำนานที่ยิ่งใหญ่ของไบเกอร์ไทย Part 1
By HDP PR
DATE: 2011.02.25
VIEW: 2140
POST: 0

บ่ายวันอาทิตย์ในเดือนเริ่มต้นหน้าร้อนของปี 2010 HDP ได้มีโอกาสแวะมาที่สมาคมศิษย์เก่าฝรั่งเศส ถนนสาธร ซึ่งเคยแต่ขับผ่าน แต่ไม่เคยเข้ามาเยี่ยมชมซักที อีกทั้งภาษาฝรั่งเศสก็ไม่กระดิกหูเอาซะเลย เมื่อขี่เจ้า Black Springer มาถึงหน้าประตูทางเข้า ซึ่งในวันนั้นจะมีงานสังสรรค์ของบรรดาศิษย์เก่าฝรั่งเศส และมีการนำรถโบราณสัญชาติฝรั่งเศสมาจัดแสดง อย่าง Citroen, Peugeot ทำให้เจ้าม้าเหล็กสัญชาติอเมริกัน ดูจะเป็นแขกผู้มาเยือนจากต่างแดนเพียงคันเดียว ในวันนั้น HDP ได้รับเกียรติจากนักขี่ระดับตำนานคนหนึ่งของเมืองไทย และยังเป็นอดีตนักศึกษาฝรั่งเศสผู้ซึ่งปัจจุบันยังคงสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมศิษย์เก่าแห่งนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง อาแตงโม เดินยิ้มมาพร้อมกับกวักมือเรียกให้นำรถเข้ามาจอดในลานจอดรถด้านหน้า เคียงคู่กับยานพาหนะของพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2

สุภาพบุรุษท่านนี้ เป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานไบค์วีคต่างๆ ทั่วประเทศไทย และเป็นหนึ่งในแกนหลักที่สร้างกิจกรรมแปรอักษร We Love The King ด้วยรถจักรยานยนต์ 2550 คัน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยังเป็นกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยได้รับการบันทึกลงในหนังสือ Guinness World Records อีกด้วย หลายๆ ท่านอาจจะเคยเห็น อาแตงโม ยามเมื่อยืนอยู่บนเวทีในระยะไกล บางท่านอาจจะเคยเห็นบนหน้านิตยสารมอเตอร์ไซค์ บางท่านอาจจะสงสัยว่าบุรุษท่านนี้คือใคร HDP จึงขออนุญาตนำบทสัมภาษณ์พูดคุยในแบบสบายๆ ในช่วงบ่ายวันหยุดพักผ่อนมาให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักกับไบค์เกอร์ท่านนี้กันครับ

 

 
 
อาแตงโมกับเฮเลน สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีส
ปี พ.ศ.2525

HDP: อาแตงโมเริ่มขี่มอเตอร์ไซค์ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ
อาแตงโม: ก็ตั้งแต่ยังเด็กอยู่นะครับ ประมาณสัก 9 ขวบ ก็เริ่มหัดขับตั้งแต่นั้นนะครับ เด็กต่างจังหวัด เด็กจังหวัดศรีสะเกษครับ ก็เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่เราจะต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ก็คือส่งหนังสือพิมพ์ แล้วก็ขับจักรยานยนต์ขายหนังสือพิมพ์ นั่นคือที่มาของการที่พ่อซึ่งรักรถมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว ก็เป็นคนซ้อมให้ หัดให้ ฝึกให้ จนกระทั่งเป็นมาตั้งแต่ 9 ขวบ 10 ขวบ ก็เริ่มขับเป็น มาโดยตลอด จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่อุบล พอมาเรียนที่อัสสัมชัญที่อุบล ก็ขับรถไปเรียนโรงเรียนตลอด 6 กิโลเมตรจากกลางเมืองไปที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนกระทั่งถึง ม. ปลาย พอเข้ามาเรียนที่กรุงเทพก็ขับฮอนด้า Scramble นะครับ ก็จากจังหวัดอุบล มาบ้านพักที่บางเขน ระหว่าบางเขนกับอุบล ก็ไปๆ มาๆ นั่นคือในช่วงขับตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งถึงเป็นวัยรุ่น ต่อมาเมื่อไปอยู่ฝรั่งเศสก็มีโอกาสน้อยไปใหญ่ นอกจากว่า ขับกับผู้ใหญ่ที่เป็นรถ ส่วนใหญ่ก็จะเป็น Harley-Davidson ก็เลยไปเริ่มขับตั้งแต่ตอนนั้น พอกลับมาเมืองไทย ก็มีโอกาสได้ขับจากอุบล-กรุงเทพ อยู่เสมอ นั่นแหละครับ พอต่อมาก็มีความใฝ่ฝันอยากจะขับรถหน้ายาว พอดีอาจารย์อ๊อด บ่าวาล์ว ให้โอกาสคือช่วยต่อรถให้ โดยซื้อทั้งเครื่องทั้งอุปกรณ์ต่างๆ มา ประกอบที่บ้านอาจารย์อ๊อด บ่าวาล์ว ที่ซอยโชคชัยร่วมมิตร ก็ผ่านพ้นไป 11 เดือน อาจารย์ ก็ต่อให้เป็นหน้ายาวในฝันนะครับ ก็ขับกลับกรุงเทพไปอุบล แล้วก็ไปแถวภาคอีสาน

HDP: ตอนนั้นกี่ปีแล้วครับ
อาแตงโม: ตอนนั้นปี 2529-2530 ครับ ก็ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาแล้วครับ

 

 
อาแตงโม แต่ง BODY เพื่อนร่วมรุ่น งานคานิวาลกรุงปารีส ปี พ.ศ.2526

HDP: ตอนนั้นที่ไปฝรั่งเศส อาแตงโมไปตอนไหนครับ
อาแตงโม: หลัง 14 ตุลาครับ ก็ในช่วงเดือนมิถุนายน ของปี 2517 ครับ ตอนนั้นอายุ 21 ก็ไปฝรั่งเศส ก็ไปเรียน ส่วนใหญ่ก็คือเรียนหนังสือ ถึงแม้ในช่วงระหว่างเรียนก็มีการทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานชั่วคราวตามร้านอาหารไทย อาหารจีน อาหารฝรั่ง สำหรับงานในครอบครัวก็มีบ้างเหมือนกับเลี้ยงลูกให้เค้านะครับ เป็นแม่บ้านให้กับชาวฝรั่งเศส จนกระทั่งขยับมาทำงานในระดับมืออาชีพ เป็นนักออกแบบโฆษณา

HDP: ฝรั่งเศสนี่คืออาแตงโมไปเรียนเรื่องทางศิลปะ ทางออกแบบ
อาแตงโม: ครับ แผนกแรก คณะแรกที่เรียนก็คือ เรียนทางด้านภาษาศาสตร์ ภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) ต่อมาพอสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรของฝรั่งเศสได้ ปีแรกๆ ก็เลือกเรียนเกี่ยวกับการออกแบบภายใน หมายถึงตกแต่งภายใน ต่อมาก็เปลี่ยนมาเป็นออกแบบโฆษณา อย่างการออกแบบพื้นผิวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำนิตยสาร เกี่ยวข้องกับการทำ Cut out โฆษณา เกี่ยวข้องกับการทำ Storyboard ในภาพยนตร์โทรทัศน์ แล้วก็โฆษณาโทรทัศน์

HDP: ไปอยู่ฝรั่งเศสนานมั้ยครับ
อาแตงโม: 11 ปีครับ ถึงปี พ.ศ. 2528 หลังจากที่จบแล้วก็ไปทำงานส่วนตัวในนามของนายกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสในพระบรมราชูปถัมภ์อยู่ปีหนึ่ง ในห้วงต้นปี 28 ถึงปลายปี 28 จากนั้นมาก็ได้ทำงานอาชีพเกี่ยวกับการออกแบบโฆษณา และบังเอิญทางศิลปินนักดนตรีชาวฝรั่งเศสเห็น เราตั้งกลุ่มนักดนตรีไทยสมัยนั้นเรียกว่าคลื่นลูกใหม่ เขาเห็นแววว่าเราฝึกได้ ร้องเพลงได้ เขาก็เลยให้ช่วยแต่งเพลงระดับสากลให้เขาหน่อย โดยเนื้อร้องก็จะเป็นภาษาไทย แต่ดนตรีจะเป็นเมโลดี้สไตล์ของฝรั่งเศส

HDP: อาแตงโมเล่นดนตรีด้วยเหรอครับ
อาแตงโม: ไม่ได้เล่นครับ แต่เผอิญว่าเป็นนักร้องนำ อัลบั้มที่เรียกกันว่า Lover ก็หมายถึงว่า My Lover, my lover ก็คือประเทศไทย สมัยนั้นเรากำลังรณรงค์ให้นักเรียนไทยในต่างประเทศได้รัก และคิดถึงเมืองไทยว่า เมืองไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด พอเรียนจบกลับมาแล้ว ให้พยายามกลับมาอยู่ที่เมืองไทย ช่วยกันทำมาหากิน นั่นคือที่มาของหัวข้อเพลงในวโรกาสสำคัญ คือเฉลิมฉลองครบรอบ 300 ปีระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสทางการฑูตในปี 2528 นั่นคือแรงบันดาลใจ ที่มาที่ไปของการทำงานแบบระดับมืออาชีพระหว่าง หมายถึงระหว่างชาวไทยกับชาวฝรั่งเศส ก็เป็นอัลบั้มเพลงชุด Funky-Electone Funky แล้วก็เป็นชุด Rap นะครับ

 

 
 
 

HDP: ที่อาแตงโมเล่าว่าเคยมีขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย ตอนอยู่ที่ฝรั่งเศส คือในยุคนั้นก็เริ่มที่จะขี่ เริ่มมีกลุ่มทางฝั่งฮาร์เล่ย์แล้ว
อาแตงโม: ก็ยังมี ถือว่าน้อยมากในช่วงที่เรียน เพราะว่าทุกคนต้องต่างคนต่างเรียนนะครับ พอเรียนจบนั่นแหละ เพื่อนศิษย์เก่าด้วยกันที่อยู่ฝรั่งเศส ที่เป็นชาวฝรั่งเศสมาขับรถในประเทศไทยในปี 2537 เป็นต้นมา หมายความว่ามาอยู่เมืองไทยเกือบ 10 ปีนะครับ ถึงย้อนกลับไปขับใหม่กับพวกกลุ่มของสมาพันธ์มอเตอร์ไซค์ในยุโรป กับกลุ่มผู้ เป็นชมรมต่างๆ ในฝรั่งเศส

HDP: ก็คือหลังจากกลับมาจากฝรั่งเศสแล้ว ประมาณ 10 ปี
อาแตงโม: จ๊ะ ก็นั่นหมายความว่าประมาณปี 2537-2540 เป็นต้นไป จึงได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับประเทศไทยด้วยการจัดกิจกรรมโดยใช้มอเตอร์ไซค์ขึ้น เรื่องของความสัมพันธ์

 

 
 
 
อาแตงโมกับเพื่อนนักศึกษาฝรั่งเศสร่วมห้อง
ปี พ.ศ.2526-2528

 
 
 
ดาวล้อมเดือน อาแตงโมกับเพื่อนร่วมรุ่น
ในช่วงวันหยุดฤดูร้อนที่เกาะกอร์ซิก๊า ฝรั่งเศส ปี พ.ศ.2527

 
อาแตงโมกับ ULTRA CLASSIC ปี 2003 กลางถนนช้องซิเซลิเซ่ เวลา 07.00 น.
ถนนว่าง สวรรค์ของนักบิดกลางกรุงปารีส

HDP: แล้วช่วงกลับจากฝรั่งเศส อาโม เริ่มมาขี่ HD ตอนไหนครับ
อาแตงโม: ก็พอมาถึงปี ค.ศ. 1993 นะครับ ก็ถอย Heritate Softail มา แล้วอาทอมก็ถอยมา 2 คัน Heritate Softail ซึ่งน้าแอ๊ดคารบาวเป็นคนซื้อมาให้ สั่งมาให้จากอเมริกา ขณะเดียวกันก็มี Electra Glide ซึ่งน้าทอมไปถอยมาจากร้าน Jammer ในรุ่น King of Highway ก็เป็น 2 คัน เราก็จะมีกัน 3 คันนี่แหละครับ ขับกันไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ภูเก็ต ต่อมาก็จะมีอาต้น-อภิวัฒน์ ศิริพงศ์ ณ อยุธยา ศิลปินรุ่นเก่านะครับ ที่เป็นพระเอกหนัง ก็เข้ามาขับด้วย คุณโก้-นฤเบศร์ ก็เข้ามาขับด้วย ไปถึงอุบล ไปภาคอีสาน มีคุณเอ วิทิต แลต ก็เข้ามาขับด้วยนะครับ ก็หลายคนในช่วงนั้นที่เป็นแบบ หมายถึงว่าไบค์เกอร์ตัวจริง รุ่นเก่า

HDP: ช่วงนั้นก็คือขี่ไปทั่ว ขี่ส่วนใหญ่ก็ไปทางอีสาน เหนือ หรือว่าไปทุกที่เหมือนกันครับ ในช่วงปี 93-94
อาแตงโม: แน่นอน ไปกันเรื่อยเลย ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นงาน Event , Bike Week ที่ไหนนะครับ ก็จะไปภูเก็ตไบค์วีค ไปตั้งแต่สมัยที่แปลอักษรเป็น Golden eyes ในห้วงที่รัฐบาลไทยประกาศให้เป็น Amazing Thailand ช่วงนั้นจะมีรถเพียง 300 กว่าคันไปร่วมงาน แต่จะแปรอักษรต้องใช้ 60 คัน ซึ่งเป็น 60 ปีพระชนมพรรษาของในหลวง ก็แปรอักษรกันที่นั่น ที่สนามกีฬาป่าตอง พอแปรอักษรเสร็จก็นั่นแหละ คือที่มาของการจุดประกายให้มีการจัดงานตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ เป็นปีที่ 16 ที่ภูเก็ตไบค์วีค ต่อมาคณะของทาง Immortals คณะของทางคารบาว ก็ไปร่วมกันจัดงานที่เชียงใหม่ ในงานเชียงใหม่ไบค์วีค โดยมี North Comet มีหลายคนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นพี่อ้วน พี่โต แล้วก็พี่ๆ ผู้ใหญ่หลายคนที่อยู่ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพหลักในการต้อนรับพี่น้องชาวไทยไบค์เกอร์ ก็เป็นปีเดียวกันคือวันที่ 5 ธันวาคม 1994 ว่าอย่างงั้น


HDP: คือปี 94 นี่เป็นปีที่เริ่มต้นเกือบทุกอย่างเลยทีเดียว
อาแตงโม: ปี 1994 เป็นมิติใหม่ เป็นภาพลักษณ์ใหม่ของการรวมพลคนสองล้อ ที่เข้ามาสู่กระบวนการจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพวกการสร้างสาธารณประโยชน์ การเสียสละเพื่อสังคม ตลอดจนการขับขี่ให้ถูกกฎหมายจราจร และการซื้อขายรถ แลกเปลี่ยนรถ แล้วก็ให้ความรู้ในเรื่องของทัศนวิสัยส่วนตัวกับเพื่อน ในเรื่องของรถมอเตอร์ไซค์สองล้ออย่างเป็นรูปธรรม

อาแตงโม โชว์ขาอ่อน ยันหอเอนเมืองปิซ่า อิตาลี ปี พ.ศ.2525

HDP: โดยที่จุดเริ่มต้น คือที่จากภูเก็ต ครั้งแรกเลยที่ไปแปรอักษรกัน ต่อมาก็ที่เชียงใหม่
อาแตงโม: ใช่ครับ แต่อย่างน้อยก็ดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวอีสานด้วย ความจริงอีสานนะ ก่อนที่จะมีภูเก็ตกับเชียงใหม่ ทางอีสานเขาก็จัด ยกตัวอย่างที่อุบล เราก็มีงานที่ผาแต้ม งานที่ดงนทาม ก็จะมีชาวฮาร์เล่ย์ไปเยอะมาก แล้วก็มีชาวรถญี่ปุ่นนะครับก็ไปเยอะมาก ในนามของเต่าบิน ในนามของคนรุ่นเก่าๆ รวมกันได้ 400-500 คันไปถึงอุบล ไปถึงดงนาทามชายแดนไทยกับลาว ริมแม่น้ำโขง ไปถึงผาแต้มนะครับ แล้วก็ข้ามไปจบป่าสักฝั่งลาว ตั้งแต่ปีเดียวกัน คือปี 94

HDP: แล้วก่อนหน้านั้นมีกิจกรรมของไบค์เกอร์ไหมครับ
อาแตงโม: ก็แค่ในช่วงต้นปีของ 94 เท่านั้นเองครับ ก็กลุ่มเดียวกัน คือกลุ่ม Immortals กับกลุ่มชอปเปอร์อุบล กับกลุ่มภูเก็ตไรเดอร์ กับกลุ่ม North Comet ที่เชียงใหม่ นี่แหละครับ รวมทั้งบูรพา หมายถึงกลุ่มของนายกบังมิน นายกบังมินก็ไปทุกที่เหมือนกัน หมายถึงพี่มิน ประสาร นิกาจิ๊ นายกรถจักรยานยนต์สยาม ไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ตก็มา เชียงใหม่ก็ไป แม้แต่ที่อุบลก็ไปกันแต่ต้นๆ ปีในช่วง 94-95-96 เป็นต้นมา

HDP: นี่คือจุดเริ่มต้นของงานไบค์วีคเลยนะครับ

 

HDP: แล้วมีทริปไหนที่ประทับใจที่สุดครับ
อาแตงโม: ที่น่าประทับใจมากก็ทั้ง 2 แห่ง คือที่เชียงใหม่กับภูเก็ต ต้องยอมรับว่าการเดินทางจากอีสานไปเชียงใหม่เนี่ย มันเป็นเส้นทางที่มีเสน่ห์มาก อยากจะบอกคนอีสาน 19 จังหวัด ภาคอีสานก็ดี มากหลายพันหลายหมื่นคันเนี่ยนะครับ การที่ข้ามแดนแถวเพชรบูรณ์ ข้ามไปพิษณุโลกเนี่ย ประตูด่านผ่านขึ้นไปภาคเหนือเนี่ย เป็นเส้นทางที่สวยงามมาก แล้วรถไม่เยอะ แล้วปลอดภัย แล้วธรรมชาติก็สวยงาม หมายถึงว่ามีทั้งภูเขา เล่นโค้งได้ แล้วก็มีทั้งธรรมชาติ ขณะเดียวกันที่พิษณุโลกก็มีทั้งโรงแรมที่เหมาะสม ทั้งราคาถูกราคาสูง แล้วก็อยู่อย่างสบาย พอเสร็จจากพิษณุโลก ข้ามไปแถวอุตรดิตถ์ เด่นชัย ไปถึงเชียงราย ก็ถือว่าสวยงาม นั่นคือเส้นทางที่เราไปเที่ยวงานเชียงใหม่ไบค์วีค เสร็จจากนั้นเราก็กลับมาที่เชียงใหม่ ก็ร่วมงานที่เชียงใหม่ไบค์วีคลงตัวพอดี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวา จนกระทั่งถึงวันที่ 5 ดีเดย์ที่เชียงใหม่ไบค์วีคกันนะครับ

HDP: อันนี้ก็เป็นเส้นทางที่ปกติอาแตงโมจะขี่
อาแตงโม: ใช่ ในห้วงนั้นนะครับ ในช่วงปี 94-95-96 ขณะเดียวกัน เส้นทางจากกรุงเทพ ขึ้นไปเชียงใหม่นะครับ ก็จะเป็นเส้นทางที่ถือว่า ชิลๆ นะครับ 600 กว่ากิโลเมตร จากกรุงเทพ-เชียงใหม่ อย่างคุณบอล ภารดร ก็ขับไปแค่ 6 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ขับด้วยความเร็ว ขับด้วยฝีมือเนี่ยนะครับ ในกรณีของที่น้องไปกันเยอะๆ อาจจะขับให้ไวเหมือนอย่างคุณภราดร คงไม่ได้ เพราะว่าท่านเป็นมืออาชีพ ท่านขับแบบชนิดที่แบบ ไปได้ไว แต่ของเราเนี่ย ถ้าเป็นหมู่คณะนี่ก็ต้อง 100 กิโลพักบ้าง เติมน้ำมันบ้าง ปัสสาวะบ้าง ดื่มน้ำชากาแฟบ้าง 100 กิโลพักทีหนึ่ง พักหยุดเนี่ยคือเชิงท่องเที่ยวที่พวกเราทำกันเป็นปกติ 20 ปีเต็ม

 

 

HDP: อย่างช่วงวันก่อน อาแตงโมก็ขี่จากทางอีสานลงมาเลย
อาแตงโม: ฉายเดี่ยวครับ ส่วนใหญ่พี่น้องทางอีสานยัง ยังไม่ค่อยพร้อมเท่าไรที่จะไปภาคใต้ น่าเสียดาย นอกจากว่านอกเทศกาลไปเองอย่างนี้ มีกันหลายคน แต่ไปกันอย่างเงียบๆ แต่ถ้าบอกว่าจะไปเลยเนี่ย หมายถึงว่าออกจากจังหวัดใน 19 จังหวัดภาคอีสานเนี่ย ก็จะหาน้อย มีปีที่แล้วนี่เริ่มไปหน่อย ทางอีสานเหนือ แต่ก็อยากจะเชิญชวนให้ทางภาคอีสานไปเที่ยวภูเก็ตกันเยอะๆ หน่อย เพราะว่า จะเห็นว่าเส้นทางแห่งสันติภาพมันมีจริง เส้นทางแห่งมิตรภาพมันมีจริง เพราะเดี๋ยวนี้ 4 เลนขับง่าย ถ้าไปกัน 10 คันนี่ก็วิ่งกันชิดขวาไปเรื่อยแหละ อย่าไปวิ่งซ้ายขวาๆ เดี๋ยวจะอันตราย วิ่งไป 100 กิโลก็มีที่น้ำมัน เติมน้ำมันแล้วนะครับ พักผ่อน ไปถึงชุมพร ก็นอนค้างที่ชุมพร ออกจากกรุงเทพไปแค่ 400-500 กิโลเมตรก็ถึงชุมพร ต่อไปอีก 300 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ภูเก็ตละนะครับ ก็ 2 วัน 2 คืน นะครับภาคใต้ แต่จะต้องมีเวลาให้ที่ภูเก็ตหน่อยนึง นั่นสำหรับชาวอีสาน แต่พี่น้องปักษ์ใต้ 14 จังหวัดภาคใต้นี่ เขาไปกันอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้เป็นที่นิยมมาก ไม่ใช่เฉพาะเป็นยอดแฟชั่นที่จะไปงานภูเก็ตไบค์วีคอย่างเดียว ชาวมาเลย์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ก็เริ่มให้ความสนใจมาเที่ยวภูเก็ต เพราะมันเป็นไข่มุกของเอเชียจริงๆ นะครับ อันดามันที่มีความสวยงาม น่าเที่ยวแล้วก็มีความพร้อมในเรื่องของที่พัก แล้ว Event ของงานแต่ละครั้งที่จัดนะครับ ภูเก็ตไบค์วีค อย่างปีที่แล้วที่เราทราบดีว่ามีชาวซาอุดิอารเบียโดยการนำของท่านเจ้าชาย Kiriage เอาขึ้นเครื่องมา 50 กว่าคัน หมายถึงฮาร์เล่ย์ล้วนๆ มาลงที่กัวลาลัมเปอร์ แล้วจากนั้น ถัดจากกัวลาลัมเปอร์เข้ามาชายแดนสะเดา แล้วก็เข้ามางานที่ภูเก็ตไบค์วีค เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่กัน 3 วัน 3 คืน นั่นแปลว่าอะไร แปลว่า ภูเก็ตไบค์วีคไม่ใช่ระดับชาติอย่างเดียวนะ เป็นประเพณีสำหรับชาวโลกละ ที่ว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ยุโรปหรือว่าที่ตะวันออกกลาง แม้แต่อเมริกา รวมทั้งออสเตรเลีย อาเซียนด้วย ก็มีความฝันว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ขอให้ได้มาขับรถ จะเอารถส่วนตัวมา หรือจะมาหารถขับที่ภูเก็ตก็ขอให้ได้มาในงานภูเก็ตไบค์วีค ถ้าจะถามว่างานส่วนตัวทั่วไป 365 วัน มาได้มั้ยที่ภูเก็ต ก็ได้ แต่ว่าไม่เจอเพื่อนนะครับ ถ้ามางานภูเก็ตไบค์วีคเจอเพื่อนก็เลยคิดว่านั่นคือจุด หมายถึงว่าแม่เหล็กของภูเก็ตก็คือ Sand-Sun-Sea แล้วก็ Bike



ติดตามตอนต่อไป >>

 

 
Share   Like
Comments