ถ้านึกถึงงาน Bike Week ในเมืองไทย ชื่องาน Phuket Bike Week คงจะเป็นชื่อที่แทบทุกคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ หลายๆ คนเคยมาเยือนงานไบค์วีคระดับโลกงานนี้ ได้พบปะเพื่อนๆ ไบค์เกอร์ทั้งชาวไทย, มาเลเซีย, สิงค์โปร์, อินโดนีเซีย และที่ต่างๆ จากทั่วโลก ที่ถือเอางานไบค์วีคงานนี้เป็นโอกาสที่จะขี่รถมอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย พร้อมทั้งได้เล่นสาดน้ำสงกรานต์ไปด้วยในทริปเดียว แต่เบื้องหลังความสำเร็จของงานไบค์วีคแห่งภาคใต้ของเมืองไทย ที่จัดมายาวนานถึง 15 ปี ในปี 2010 นี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าหากขาดหัวใจหลักของงานอย่าง พี่ซูมัน ที่เป็นผู้คอยประสานงาน, จัดการ และบริหาร แทบทุกๆ ส่วนของงาน นอกจากนั้น พี่ซูมัน ยังเป็นเจ้าของนิตยสารมอเตอร์ไซค์ Ride Thailand ที่เป็นสื่อกลางให้กับชาวมอเตอร์ไซค์บ้านเราอีกด้วย
ก่อนที่จะขึ้นเครื่องกลับ กทม. ในช่วงเย็นของวันพุธที่ได้มีโอกาสไปสำรวจสถานที่ ณ จ.ภูเก็ต HDP จึงขออนุญาตพี่ซูมัน เข้าไปเยี่ยมชมร้าน West Coast Ride Thailand ที่ตั้งอยู่ริมถนนซุเปอร์ไฮเวย์จากแยก Central Festival Phuket ที่มีของที่ระลึกต่างๆ มากมาย พร้อมบริการซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยน-ซ่อมบำรุง รถ HD และรถยี่ห้ออื่นๆ อย่างครบวงจร ยิ่งได้ขึ้นไปเยี่ยมชมแผนกเครื่องหนังทำรองเท้าของพี่ซูมัน แล้ว เริ่มเกิดอาการอยากทำรองเท้าบูทคู่ใหม่ซักคู่ขึ้นมาทันที พี่ซูมัน เล่าให้ฟังว่า เครื่องหนังพวกนี้ ส่วนใหญ่จะมีออเดอร์มาจากต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยนำรายได้เข้าประเทศอีกทาง
เดินสำรวจซะจนทั่วร้าน ก็ได้เวลามานั่งดื่มกาแฟกันที่เคาเตอร์มุมเครื่องดื่มของร้าน เพื่อพูดคุยกับพี่ซูมัน ถึงเรื่องราวต่างๆ ของไบค์เกอร์ระดับแนวหน้าของเมืองไทยท่านนี้กันครับ
HDP: พี่ซูมัน เริ่มขี่มอเตอร์ไซค์มาตั้งแต่ตอนไหนครับ
พี่ซูมัน: ผมเอง ขี่มาตั้งแต่อายุ 19 ครับ ตอนนั้นปี 86 ขี่ Streed ก่อน ตอนจบ ม.6 ขี่ Virago แล้วเริ่มขี่ Harley ตอนปี 89
HDP: ตอนนั้นขี่ฮาร์เล่ย์คันแรกรุ่นอะไรครับ
พี่ซูมัน: Dyna Low Rider เสื้อเหล็กครับ เป็นรถฮาร์เล่ย์คันแรก ส่วนคันแรกสุดของรถมอเตอร์ไซค์ก็เป็น Virago ตอนนั้นขี่มาตั้งแต่ Virago, Streed, Shadow อะไรพวกนี้ไปเรื่อย
HDP: โห เริ่มมาก็เป็นรถใหญ่เลยเหรอครับ
พี่ซูมัน: คือผมอยู่กับฝรั่งคนหนึ่ง เขาเป็นทหารเวียดนามเก่า แล้วเขาก็ขี่ฮาร์เล่ย์อยู่ในเกาะเนี่ยครับ ผมเป็นลูกศิษย์ แล้วเขาเป็นเหมือนกับพ่อบุญธรรมมากกว่า
HDP: พี่ซูมันเป็นคนภูเก็ตเลยใช่มั๊ยครับ
พี่ซูมัน: ครับ เป็นคนที่นี่เลย
HDP: ตั้งแต่ตอนนั้น พี่ซูมันก็ค่อยๆ สะสม เปลี่ยนมาเรื่อยๆ
พี่ซูมัน: เปลี่ยนเพราะว่าทำกิจกรรมนั่นแหละครับ กิจกรรมก็เริ่มจากตอนภูเก็ตไบค์วีคเมื่อตอนปี 95 เป็นปีแรก นี่! โปสเตอร์ปี 95 (หันกลับไปชี้โปสเตอร์ที่ใส่กรอบอยู่ด้านหลัง) ตอนนั้นชื่องานจะเป็น Phukist ซึ่งก็คืองานภูเก็ตนี่แหละ แต่ตอนนั้นเราทำร่วมกับทาง ซัน ออฟ ชีวา แล้วก็ จีฟอร์ส ตอนนั้นจีฟอร์สนี่ของสมัยพี่เอพิมลนะครับ แล้วก็เรื่อยมาในปี 95-96-97-98-99 จนถึงปัจจุบันนี่ แต่ละปีโปสเตอร์ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างนิตยสารก็เรียงเป็นแถวไปเรื่อยๆ แหละของผม
HDP: แล้วนิตยสารนี่เริ่มทำมาตั้งแต่ปีไหนครับ
พี่ซูมัน: นิตยสารตอนเที่ยวอเมริกา ตอนประมาณ 7-8 ปีมานี้ครับ ผมเริ่มทำนิตยสารตอนปี 2001-2002
HDP: อะไรที่ทำให้พี่ซูมันเกิดแรงบันดาลใจอยากทำนิตยสารครับ
พี่ซูมัน: ผมว่าผมมีโอกาสเที่ยวมากกว่าคนอื่น ผมเลยอยากจะทำอะไรที่เขียน ก็ไม่นึกว่ามันจะมีคนอ่านเยอะ คือคิดว่าตอนที่ทำเล่มแรกเนี่ย ทำไปเพราะว่าความสนุก ทำไปแบบ เราคิดแต่ว่ามีเพื่อนอยู่เยอะ เชียงใหม่, หาดใหญ่, สุราษฏร์ฯ อะไรอย่างนี้ใช่มั้ย เราหวังว่าจะทำหนังสืออะไรก็ได้ให้เพื่อนได้รู้ว่าเราไปไหนมา เหมือนที่พี่กำลังทำอยู่นี่แหละครับ พูดง่ายๆ ว่า report แล้วกลายเป็นว่า เฮ้ย ตอนนั้นยังไม่มีดีลเลอร์ด้วย ตอนแรกๆ ที่ทำจะมีเฉพาะ ฮาร์เล่ย์ก็ปิด ปิดว่างอยู่ตอนนั้น
พอพาวเว่อร์หยุดก็เงียบไป มันมาเป็นช่วงไง เพราะช่วงที่ทำหนังสือเนี่ย มันเป็นยุคของ Big Twin เพราะผมอยู่ตั้งแต่ร้าน... แต่ก่อนร้านพี่โด่งเนี่ย เราจะคลุกคลีอยู่ตั้งแต่ร้านเล่าเกียงเส็ง มาร้านพี่โด่ง ร้านแจมเมอร์ คือมันจะมาเป็นยุค เป็นรุ่นๆ ไป อย่างแจมเมอร์ พอแจมเมอร์เสร็จก็คลุกคลีกับ Big Twin, V Speed, Siam Speed Way มันก็จะเป็นยุคเป็นรุ่นนะ รุ่นนี้ก็ถึงพี่ช้างพี่โตอะไรอย่างนี้
HDP: แล้วในหนังสือ Ride Thailand เนื้อหาส่วนใหญ่เขียนเองเลยหรือเปล่าครับ
พี่ซูมัน: แรกๆ ผมเขียนเอง ตอนนี้เรามีทีมงานอยู่สัก 10 กว่าคนที่เป็น Journalist นะครับ ก็คือเราให้คอลัมน์ไปแล้วก็เขาจะรู้ว่าเขาจะต้องส่งคอลัมน์ไหน ณ ตอนนี้ทำหนังสือแค่ rewrite กับบริหารอย่างเดียว ไม่ได้ลงลึกมาก
HDP: นอกจากทำหนังสือแล้ว พี่ซูมันมีทำทัวร์ด้วยใช่มั้ยครับ
พี่ซูมัน: ฮาร์เล่ย์ ทัวร์ครับ ของที่นี่ผมจดทะเบียน ททท.ไว้ครับ เป็นบริษัททัวร์ Inbound-outbound บริษัทมีงาน Outbound อยู่ทั้งหมด 2 งานหลักๆ คือ MOTO GP กับ Formula 1 ที่ Sepang เพราะว่าผมทำงานให้สนามที่ Sepang มาตลอด แต่ส่วนมากเป็น Inbound แต่ผมจะไม่รับ 1 day trip ผมไม่ค่อยรับ 3 วัน ส่วนมากถ้าเป็นฝรั่งจะขอรับอาทิตย์หนึ่งนะ
HDP: ตลาดที่เข้ามาส่วนมากเป็นตลาดทางฝั่งไหนครับ
พี่ซูมัน: ส่วนมากตลาดของผมจะเป็นตลาดเอเชียครับ แล้วก็เป็นตลาดออสเตรเลีย แต่ตอนนี้ตลาดใหญ่สุดของเราก็คือรัสเซีย
HDP: เขาบินมา แล้วก็มาจัดทัวร์เหรอครับ
พี่ซูมัน: มันมีแบบ fly, ride and dive ก็คือแบบ บินมาขี่ แล้วก็ดำน้ำครับ นี่คือ target เรานะครับ ที่เราทำ แต่โดยส่วนมากที่ผมทำตอนนี้โดยของตัวเองนะครับ คือผมทำเฉพาะกรุ๊ปฮาร์เล่ย์ที่ 20 คันขึ้นนะผมถึงจะทำ ถ้าน้อยกว่านั้นนี่ผมไม่อยากพาทัวร์เลย แล้วทัวร์ตอนนี้ที่ทำมากที่สุดก็คือทัวร์ไทย, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา อะไรอย่างนี้ คือทัวร์ 4 ประเทศ
HDP: จากที่นี่ ขี่ไปเลยเหรอครับ
พี่ซูมัน: ก็ คือขี่ไปตามในหนังสือเลยครับ คือผมไปรับที่ชายแดนหาดใหญ่ แล้วก็พาจนกลับถึงชายแดนหาดใหญ่ มันจะได้เห็นเงินหน่อย ถ้ารับทริปเล็กๆ แล้วมัน... ก็ที่ทำอยู่ก็จะมีเห็นลงใน Ride Thailand ทัวร์ลาว ทัวร์เวียดนาม ทัวร์อินโดนีเซีย อะไรอย่างนี้ครับ
HDP: คือ ถ้าเป็นทริปยาวๆ นี่พี่ซูมันจะไปเองเลย
พี่ซูมัน: ผมไปเอง ผมไปเองเลย อันนี้ปีนึงเรารับได้มากสุด ก็แค่ 6 ทัวร์ 6 ทริป
HDP: ถ้าทริปใหญ่ๆ นี่ได้กี่วันครับ
พี่ซูมัน: ผมเน้นที่ 2 อาทิตย์ ผมออกได้ 2 อาทิตย์ หนึ่งอาทิตย์นี่เป็นขั้นต่ำนะครับ เพราะว่าถ้าน้อยเกินแล้ว เรื่องของการจัดการมันไม่ค่อยคุ้ม แต่น้อยกว่านั้นคนที่เราฝึกมาเค้าก็ทำได้ ก็จะมีเพื่อนที่อยู่ด้วยกันนี่แหละครับ
HDP: แล้วถ้ามองในเรื่องธุรกิจ ในเรื่องไบค์เกอร์ชาวไทยที่จะมาทำทัวร์มอเตอร์ไซค์เพื่อที่จะรองรับชาวต่างชาติหล่ะครับ ดูแล้วพี่ซูมันคิดว่า มีความเป็นไปได้ขนาดไหน
พี่ซูมัน: ผมว่าชาวต่างชาติชอบประเทศไทยมากที่สุดแล้วนะ แล้วเราเป็นคนขี่ต่างประเทศ เรารู้ว่าเมืองไทยสุดยอดถนนก็ดี คนก็อัธยาศัยดี ตำรวจก็ไม่ค่อยยุ่ง ที่นี่ใครขี่รถอะไรก็ได้ ผมว่า ดีนะ ดีที่สุด ผมว่าน่าจะสุดในโลกแล้ว เพราะอเมริกามันใหญ่เกินครับ แต่ที่นี่ปาร์ตี้ได้ทุกวันทุกคืน ผมว่าตอนนี้ที่ผมมีกรุ๊ปเยอะที่สุดก็คือบรูไนกับอินโดนีเซีย เพราะอินโดนีเซียนี่เขาจะบุ๊คตัวเราไว้เลย ทุกๆ 2 เดือน อะไรอย่างเนี้ย เค้ามาแล้วจะชอบพัก 5 ดาว เค้าชอบเมืองไทยเรื่องถนนที่มันโล่งครับ เคยไปอินโด-มาเลย์ แล้วมัน jam เหมือนพาหุรัตนะครับ เค้าชอบ ตอนนี้ยิ่งสายการบินแอร์เอเชียที่เปิด ตอนนี้เราโชคดี เรามีฐานที่นี่ มีสายการบินแอร์เอเชียเริ่มเปิดจากาต้า เปิดเนปาล เปิดออสเตรเลีย ซิดนีย์ บินตรงได้เลย ตอนนี้ทริปเยอะ แล้วก็รับหมดนะ รับทัวร์แม้กระทั่งจัดรถรับจากสนามบินก็ทำ เหมือนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ที่นี่เค้าก็ทำก็คือเราจัดรถมอเตอร์ไซค์ไปรับ เป็นงานแต่งงานของเจ้าของงาน เราก็จัดรถไปรับถึงที่สนามบิน เราก็จัดขบวนฮาร์เล่ย์รับ มีเBenz มีอะไรรับให้ ก็คือต้องมี License เราถึงรับทำให้ ก็คือทั้งทัวร์ แล้วก็มีลักษณะเป็น Organize งานด้วย อันนี้คือพูดถึงเรื่องทัวร์ใช่มั้ยครับ ก็คือรับหมดเลย แล้วก็ เราเองจะต้องมีบัตรไกด์ไง ก็คือเราก็ต้องไปอบรมไกด์ มีบัตรไกด์มีอะไรครบ
HDP: ถ้าพูดถึงเส้นทางที่พี่ซูมันไปขี่แล้ว อยากแนะนำให้คนอื่นได้ไปบ้าง
พี่ซูมัน: Route ใช่มั้ยครับ สมมุติผมชวนคนไทยขี่ใช่มั้ยครับ ที่สวยๆ ผมว่าถ้าปักษ์ใต้นะ ปักษ์ใต้จะอยู่เส้นนี้ครับ ชุมพร-ระนอง มาสุราษฏร์ เส้นนี้นะสวย เป็นเส้นแนวภูเขา เส้นที่สวย ความคิดผมนะ ผมว่าผมจะตีให้คะแนนแถวสุพรรณขึ้น ตั้งแต่นู่น วัดบ้านไร่ไปฝั่งนู้นนะครับ ผมว่าเส้นนั้นสวย ถ้าถามผมว่าเส้นที่สวยที่สุด ผมให้คะแนนที่น่าน ถ้าถามผมนะ ผมชอบมากเลย มันแบบ คนมันไม่เยอะ ถนนมันไกลๆ แต่ก่อนชอบน้ำหนาว แต่ว่าไม่ค่อยชอบละ พักหลังๆ ไปชอบน่าน ไม่รู้ยังไง ก็วิ่งเส้นจากปัวไปเกาะเกลือใช่มั้ยครับ เพราะว่าแต่ก่อนเส้นบ้านไร่นี่ก็ว่าสวย แต่มันก็เป็นฝั่งนี้ ฝั่งตะวันตกใช่ป่ะ แต่พอเป็นฝั่งภาคเหนือขึ้นไปผมว่าน่าน น่านไปพะเยา ตั้งแต่ลำปางแยกไปทางโน้นนะ ผมว่าสวยดี
HDP: ถ้าเป็นต่างประเทศที่เคยไปละครับ มีทริปหรือเส้นทางไหน ที่อยากไปมั้ยครับ
พี่ซูมัน: Route ที่อยากไปใช่มั้ยครับ ผมว่าคนไทยนะ Route ที่อยากไปก็ออกไปง่าย ผมว่าออกจากไทย ไปลาว ไปเวียดนาม แล้วขับเข้ากัมพูชา แล้วกลับมาเมืองไทยนี่น่าขี่ ถ้าคนที่อยากทำนะ 1. ก็คือ มีกลุ่มเดินทางกับ บีเอ็มบ่อย แล้วก็ การจัดเส้นทางมันจะง่าย เราน่าจะออกจากเส้นทางไปทางกรุงเทพฯ ไปอุดรฯ หนองคาย ก็ข้ามไปฝั่งเวียงจันทน์ ขึ้นไปอาจจะไปทางวังเวียงหรืออาจจะไป มันจะมีแยกไปอีก ทางไปหลวงพระบางใช่มั้ยครับ เราเวียนวกมาทางเส้นไปเชียงของ เค้าเรียกอะไรนะครับ สุวรรณเขต มั้งครับ ลงไปออกใต้ฮานอย แล้วก็ขับลงมา แล้วไปเข้าทางลาวใต้
HDP: อันนี้พวกรถฮาร์เล่ย์ก็เข้าได้ใช่มั้ยครับ
พี่ซูมัน: เข้าได้ครับ เราวิ่งอยู่แล้ว เนี่ยน่าไป เพราะหลายคนยังไม่เคยขับในลาว ขับในเวียดนาม ไม่เคยขับในกัมพูชา
HDP: ถ้ามีคนไทยที่อยากจะไป พี่ซูมันก็รับจัดทริปไปด้วยรึเปล่าครับ
พี่ซูมัน: รับครับ เรามีคนที่อยู่ในพื้นที่คอยประสานงานให้อยู่แล้ว
HDP: ถ้าพูดถึงงานไบค์วีคในปัจจุบัน ไบค์วีคจังหวัดต่างๆ ที่ปัจจุบันจัดกันขึ้นมาดูแล้วในอนาคตรูปแบบมันจะเป็นยังไง เปลี่ยนไปรึเปล่าครับ
พี่ซูมัน: ก็ดีขึ้นนะ ตรงที่ว่า อีเว้นต์เนี่ย มันไม่ใช่มีแค่เวทีคอนเสิร์ต เพราะว่าสิ่งที่พยายามจะคุยกับคนจัดงานทั่วๆ ไปเนี่ย ให้มีกิจกรรมเยอะๆ เพิ่มมากขึ้นใช่มั้ยครับ ให้มีจุดขาย อย่างภูเก็ตไบค์วีค เรามีหลายวัตถุประสงค์ที่ทำมาให้เป็นรูปธรรม อย่างงานอื่นๆ เราเข้าใจว่าเค้าก็ต้องค่อยๆ กระเถิบ ก็คือตั้งแต่วันแรกๆ ที่คิดจัดงานครั้งแรก ก็มีเวที เครื่องเสียง แล้วค่อยๆ ขยับไป แต่ผมว่าอีเว้นต์อื่นยังพลาดเรื่องของการทำตลาด คือคิดว่าจัดแล้วยังไงเค้าก็มา แต่คนที่มาก็กลายเป็นคนเดิมๆ อะไรอย่างเนี้ยครับ อย่างภูเก็ตเนี่ย เราจัดงานภูเก็ตไบค์วีค เราคำนวณตัวเลขคนไทยว่าอาจจะมาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่เราจะให้ความสำคัญที่จำนวนแขกที่เข้ามาจริงๆ ว่าพักกี่ห้อง ชื่ออะไร จากประเทศไหนเยอะ เพราะว่าการท่องเที่ยวเค้ามองผมไปตรงโน้นเลย เค้าไม่ได้มองว่าจัดอีเว้นต์อย่างเดียวมั้ย แล้วเนี่ยครับ คือพวกสื่อเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อแต่ละประเทศที่มา อย่างไบค์วีคอย่างเนี้ยครับ เราก็ต้องทำเรื่องเชิญเค้านะ ไม่ว่าจะเป็น Easy Rider
HDP: ตั้งแต่พี่ซูมันขี่มาเนี่ย มีเรื่องของอุบัติเหตุบ้างมั้ยครับ
พี่ซูมัน: มีบ้างครับ ถ้าตัวเองนะน้อย ส่วนมากจะเป็นคนในที่ขี่ไปด้วยมากกว่า มีคนตายในมือ 2 คนเนี่ยในชีวิต คือเราช่วยเค้าไม่ได้ คือแบบมันไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน
HDP: ส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะมาจากสาเหตุอะไรครับ
พี่ซูมัน: ทุกคนที่ตายทั้ง 2 คน เป็นรถสปอร์ตหมด รถสปอร์ต คือแบบจังหวะที่เราขี่เป็นขบวนเนี่ยครับ เขาก็ขี่นำหน้าแซงไป แล้วก็... เพราะว่าเราไปถึงข้างหน้าแล้วแบบ เจอะพอดีอย่างเนี้ยครับ ส่วนมากจะเป็นรถสปอร์ต
HDP: เขาแอบแหกกฎหรือว่าเราอนุญาตให้เขาขี่เองครับ
พี่ซูมัน: ส่วนมากเขาแหกกฎนะ คนที่ประสบอุบัติเหตุส่วนมากเกินขีดความเร็ว ไม่น่าจะโค้งนั้น ความเร็วเท่านั้นอะไรอย่างนั้นมากกว่าครับ คือแบบ เขาอยากหรอยอ่ะ เขาอยากมันส์นะ แต่นี่บางทีเขาขี่เป็นขบวน เราขี่เป็นเพื่อ protect ความปลอดภัย แต่เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเบื่อ เขาก็ออกไปก่อน ทั้งที่เราก็พยายามคุยกับเขานะ พี่เวลากฎของการขี่รถเนี่ย พี่มีนิสัยส่วนตัวเป็นยังไง ตอนขี่รถเป็นขบวนเนี่ยจะมองออก บางทีมีตามเขาส่วนตัว พี่ก็ทำงานอย่างนั้น พี่ก็ไม่ค่อยตามใครอย่างเนี้ยครับ เราก็ยังคุยตรงนี้ไปเรื่อยๆ ครับ เพื่อเน้นให้เขา
HDP: เป็นคนไทยใช่มั้ยครับ
พี่ซูมัน: ทั้งสองคนที่ตายในมือของผมเนี่ยเป็นคนไทย
HDP: ผมคิดว่าคนต่างชาติคงไม่รู้ทาง คงไปก่อนไม่ได้
พี่ซูมัน: คือพอเขาแซงไปเรื่อยๆ ก็เป็นจังหวะที่เขาหลุดกลุ่ม แล้วเขาจะมีความรู้สึก เฮ้ย! ก็ได้นี่หว่า พอได้ โป้ง! เข้าไปให้อย่างเนี้ยครับ แต่ตอนนี้ก็ ผมว่าการขับขี่ของคนไทยก็เริ่มดีขึ้นนะ ผมก็พยายามที่จะพยายามบอกเขาว่า สังคมเหลือสังคมเดียวแล้วล่ะ สังคมมอเตอร์ไซค์เนี่ยที่จะเอานักเลงมาเข้ากฎหมู่กฎระเบียบเดียวกัน เพราะว่าอยู่ตั้งแต่หลายปีมานี้ ก็เห็นว่ามันก็เปลี่ยนไปเยอะ ผมว่าเปลี่ยนเยอะเลยละประเทศไทยเรา
HDP: แล้วในอนาคต ในสังคมมอเตอร์ไซค์ พี่ซูมันอยากให้เป็นแบบไหนครับ
พี่ซูมัน: อยากให้เหมือนยุโรป เพราะเรื่องการขี่มอเตอร์ไซค์มันเป็นเรื่องปกติ ผมว่าตอนนี้ใกล้ละ เพราะตอนนี้ใครก็ซื้อได้แล้วไงครับ ไม่ได้เหมือนสมัยตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เราซื้อตอนนั้น คันละล้านเหมือนฮีโร่เลยครับตอนนั้น นึกภาพออกมั้ยพี่ สมัยก่อนคือแบบว่าขี่ฮาร์เล่ย์ ผมขี่ไปตอนถ่ายทำหนังเรื่องเนี้ย มังกรเจ้าพระยา เค้ารู้จักผมเพราะว่าผมเป็นคนภูเก็ต คนเดียวที่ไปคลุกคลีอยู่กับพวกพี่ๆ ตั้งแต่ซอยรางน้ำเลย ตั้งแต่ Immortals รุ่นแรก แล้วก็กลายเป็นว่าเรื่อยๆ ก็มาจัดงานนี้ งานนี้ที่จัดเพราะว่าตอนนั้นมันมี dealer พี่เอ เพิ่งเปิด G-Force แล้วก็คุยกับทางมาเลย์ สิงคโปร์ ว่าเอาภูเก็ตเพราะว่ามันครึ่งทางพอดี ทีแรกว่าจะไปสมุย แต่มันมีปัญหาเรื่องเข้าๆ ออกๆ แล้วก็มาได้ตรงนี้เพราะว่าผมแล้วก็พี่ๆ หลายๆ คนก็ช่วยกันมา 2-3 ปีเหมือนกัน
HDP: แล้วพี่ซูมันมีอะไรอยากฝากสำหรับคนขี่ พวกเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ขี่มอเตอร์ไซค์บ้างครับ
พี่ซูมัน: ผมว่าวันเนี้ย ถ้าคนไทยไม่รักกันนะ ผมว่าอนาคตเนี่ยฝรั่งจะครอบงำ ไอ้อิทธิพลไม่ดีๆ มันจะเข้ามาครอบงำ แล้วทำให้คนไทยเนี่ยต้องมาทะเลาะกัน เพราะว่าตอนนี้เริ่มละ เริ่มมีกระแสละ ยกเว้นในกรุงเทพฯ ยังแข็งอยู่ เพราะว่าตอนนี้ เท่าที่ผมมองดูนะ ผมว่าคนไทย ถ้าจะให้คนไทยทะเลาะกันเองไม่ค่อยมีหรอก แต่ถ้าคนไทยแยกกลุ่มหรือแยกตัวว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้ๆ นะ ผมว่าจะทะเลาะกันเองนะครับ แล้วก็พวกๆ อิทธิพล พวกนี้ครับ ที่มาจากต่างชาติ มันเข้ามาหลายๆ รูปแบบ ที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องยาเสพติด ก็คือเรารู้ว่า ถึงแม้ว่าเราก็ยังอยู่กับมันได้บ้าง แต่ตอนนี้รุ่นน้องเนี่ย เค้าไม่ได้คิดอย่างนั้น รุ่นน้องเค้ามีกะตังอ่ะ แล้วตอนเนี้ยเท่าที่ผมเจอ ผมว่าถ้าคนไทยไม่พยายามมีจุดศูนย์รวมที่เดียวกันให้แน่นนะ คนไทยทะเลาะกันแน่เลย
ร้าน West Coast Ride Thailand ยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของชาวมอเตอร์ไซค์ในจังหวัดภูเก็ตอีกแห่งหนึ่งครับ เพราะมีพี่ๆ ไบเกอร์เริ่มมาตั้งวงกันหน้าร้านในวันที่อากาศเป็นใจ ไม่ค่อยมีฝนโปรยปรายมาซักเท่าไหร่ หลายๆ ท่านเคยเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ HD-Playground และได้ฝากข้อคิดคำติชมมาเพื่อจะได้เป็นกำลังใจและแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ต้องขอขอบคุณพี่ๆ ทุกท่านที่ให้โอกาสได้ไปร่วมวงสนทนาด้วยในวันนั้นครับ
พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปเรียบร้อย ก็ได้เวลาขับรถที่เช่ามากลับไปคืนที่สนามบินเพื่อขึ้นเครื่องกลับ กทม. พี่ซูมัน ได้แนะนำและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของชาวมอเตอร์ไซค์ในอดีต จนไปถึงทิศทางที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ความเป็นไบค์เกอร์แบบไทยๆ ที่มีน้ำใจ และมิตรภาพ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันล้ำค่าของเมืองไทย ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่ายในบ้านเราผ่านทางการจัดทำทัวร์ท่องเที่ยวด้วยรถมอเตอร์ไซค์ นิตยสาร Ride Thailand ที่ยืนเคียงข้างไบค์เกอร์ชาวไทยมาโดยตลอด แผนงาน Phuket Bike Week ที่จะยิ่งใหญ่ขึ้นทุกๆปี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาผสมผสานได้อย่างลงตัว โดยบุรุษที่เป็นมีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าของวงการมอเตอร์ไซค์เมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พี่ซูมัน
|