A-C-01<br>Expired::
A-C-02<br>Expired::
A-C-03<br>Expired::
 
[Riding & Technique]
 
|| Technique || Buying Guide - Harley-Davidson Sportster
By HDP PR
DATE: 2014.06.10
VIEW: 2191
POST: 0

 

|| RIDING & TECHNIQUE ||
BUYING GUIDE – HARLEY-DAVIDSON SPORTSTER
TEXT/PHOTO: SILODROME.COM | TRANS: HD-PLAYGROUND

 



 

 

INTRODUCTION


รถมอเตอร์ไซค์เชื้อสายอเมริกัน “Harley-Davidson Sportster” ถูกผลิตครั้งแรกในปี 1957 เป็นคู่แข่งสำคัญของรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติอังกฤษที่กำลังทำตลาดรถสองล้ออย่างดุเดือดในยุคนั้น "Sportster" เป็นรถมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson ตระกูลแรกที่มาพร้อมกับโช้คหลังและเครื่องยนต์สมรรถนะสูง "Overhead-Valve Engine"


รูปลักษณ์ของ "Sportster" ทำให้เรานึกถึงรถมอเตอร์ไซค์อังกฤษรุ่นหนึ่งที่ครองใจไบค์เกอร์ และได้รับความนิยมอย่างมากในปลายยุค 1950 นั่นก็คือ "Triumph Thunderbird" ด้วยรูปทรงองค์ประกอบที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน ทำให้ "Sportster" ได้กระแสการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศสหรัฐอเมริกา


ในยุคแรก "Sportster" ใช้เครื่องยนต์ Ironhead V-twin ขนาด 900 ซีซี ทำมุม 45 องศา เค้นแรงม้าได้ 40 ตัว ที่ 5,500 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุดทำได้ประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักโดยรวมอยู่ที่ 495 ปอนด์ (ประมาณ 225 กิโลกรัม) โดยเครื่องยนต์ Ironhead ชุดเดิมถูกใช้มากว่า 28 ปีแล้ว ล่าสุดในปี 1986 Harley-Davidson จึงตัดสินใจยกเครื่อง "Sportster" ใหม่เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ "Evolution" แทน


ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของ "Sportster" เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างทัศนคติที่ดีให้กับเจ้าของรถ เนื่องจากพวกเขามั่นใจได้ในบริการหลังการขายที่มีความน่าเชื่อถือ เมื่อรถเกิดปัญหาจะมีช่างที่มากไปด้วยฝีมือและประสบการณ์คอยดูแล รวมทั้งอะไหล่ชิ้นส่วน อุปกรณ์ต่างๆ ของตัวรถ ก็สามารถหาได้ง่ายตามตลาดทั่วไป มากกว่านั้นคือ 'สังคม Sportster' ที่จะคอยช่วยให้คำแนะนำ แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นในวงการสองล้ออีกด้วย


ในแวดวงของสาวก Harley-Davidson จะพูดอยู่เสมอว่า "Sportster" เป็นรถที่เหมาะกับไบค์เกอร์หน้าใหม่ แต่จริงๆ แล้วรถ Harley ในยุคแรก มักออกแบบให้ตัวรถมีน้ำหนักเบาเพื่อแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ อาทิ Indians, Cyclones, Hendersons, Excelsiors, Popes เป็นต้น แต่กับรถครุยเซอร์โครเมียมแล้ว เราจะคุ้นหูกับแบรนด์ Harley-Davidson มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงเรียกได้ว่า "Sportster" เป็น 'DNA' หรือเลือดเนื้อเชื้อไขตัวจริงของ Harley-Davidson มาตั้งแต่ในอดีต

 

 

 

 

   

 

 

 

A TIMELINE OF THE SPORTER


1957 – “Sportster” รุ่นแรกของ Harley-Davidson ใช้เครื่องยนต์ Ironhead Overhead-Valve Engine โช้คหลังคู่แบบสปริง เจาะตลาดกลุ่มนักบิดวัยเยาว์ผู้ที่ต้องการรถครุยเซอร์ความเร็วสูงและสมรรถนะที่ดีเยี่ยม


1972 – เครื่องยนต์ Ironhead ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ และเพิ่มความจุเครื่องจาก 900 ซีซี เป็น 1,000 ซีซี


1975 – เป็นปีที่ DOT กำหนดให้รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันที่จำหน่ายในอเมริกา ต้องมีรูปแบบพื้นฐานของรถตามที่กำหนดในข้อตกลง ระบบเกียร์ต้องอยู่ด้านซ้ายของตัวรถ ซึ่งทาง Harley ก็ได้ปรับตามแบบดังกล่าวด้วย คือ เปลี่ยนจากเดิมที่เกียร์อยู่ด้านขวามาเป็นด้านซ้าย รวมถึง Norton Commando และรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์อื่นๆ ด้วย


1986 – หลังจากใช้เครื่องยนต์เดิมๆ มาเป็นเวลาถึง 28 ปี ปีนี้ เป็นปีที่ Harley ตัดสินใจยกเครื่อง Ironhead เปลี่ยนไปใช้เครื่อง 'Evolution' ทั้งรุ่น 883 ซีซี และ 1,100 ซีซี ซึ่งเป็นที่มาของเครื่องยนต์ “Sportster” อันนุ่มนวลที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้


1988 – ภายใต้ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากเครื่องคลาสสิก 883 ซีซี ในปีนี้ ทาง Harley ได้อัพเกรดเครื่องยนต์ขนาด 1,100 ซีซี ไปเป็น 1,200 ซีซี รวมทั้งวาล์วปีกผีเสื้อและคาบูเรเตอร์เดิมๆ ก็ถูกถอดออก เพื่อเพิ่มความร่วมสมัยให้กับตัวรถ


1991 – ความล้าสมัยของระบบเกียร์ 4-สปีด ถูกเพิ่มเป็น 5-สปีด รวมถึงเปลี่ยนจากระบบส่งกำลังด้วยโซ่ (Chain Drive) ไปเป็นระบบส่งกำลังด้วยสายพาน (Belt Drive) ปรับใช้ทั้งสองรุ่นของ คือ '883 Deluxe" และทุกๆ โมเดลของรุ่น '1200' ด้วยปัญหาในเรื่องการบำรุงรักษาที่เกิดขึ้นจากการใช้โซ่เป็นตัวส่งกำลัง บริษัทจึงตัดสินใจนำระบบสายพานมาใช้กับตัวรถแทน ปัจจุบันนี้ ระบบสายพานได้กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของตำนาน Harley-Davidson


1993 – ทุกๆ โมเดลของรุ่น 'Sportster 883' เปลี่ยนไปใช้ระบบสายพาน หรือเรียกได้ว่าในทุกสายการผลิตของ Sportster ปรับไปใช้ระบบสายพานทั้งหมดแล้ว


1994 – ผลสืบเนื่องจากปี 1990 ทำให้ปีนี้ Harley ได้ปรับโฉมถังน้ำมันและคลัทช์ของ “Sportster”  ใหม่ทั้งหมด รวมถึงพัฒนาระบบ “Weather-Proof” และเดินวงจรอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ด้วย


1995 เปลี่ยนเรือนไมล์จาก Mechanical เป็น Electric ปรับใช้กับทุกรุ่นของ Sportster


1996 “XL 1200C” Sportster Custom ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกกับตัวถังโครเมียมตกแต่งลวดลายให้มีสไตล์ที่โดดเด่น ด้วยตัวรถที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้การควบคุมรถค่อนข้างง่าย จึงถูกขนานนามว่าเป็นรถครุยเซอร์สำหรับหน้าใหม่โดยแท้จริง “XL 1200 Custom” ได้รับความนิยมอย่างมาก นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว Sportster ที่ครองใจนักบิดทุกเพศทุกวัยมา 17 ปีแล้ว


1998 – กำเนิดรถ “XL1200” ตัวแรง ใส่หัวเทียนคู่ แต่งเครื่องยนต์ด้วย “Performance Cams” ทำให้รถมีรอบที่จัดจ้าน ดุดิบ ถูกใจสาวกไบค์เกอร์ขาซิ่งไปตามๆ กัน


2000 – อัพเกรดซีลแกนล้อและใช้คาลิปเปอร์เบรกแบบ 4 พอร์ต ถึงแม้รถจะช้าลง แต่ความมั่นคงของระบบขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้นแน่นอน


2004 – เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของ “Sportster” เรียกได้ว่า 100% ของตัวรถเลยก็ว่าได้ ทั้งเฟรมรถ ระบายอากาศ รวมถึงถังน้ำมันดัดแปลงรูปทรงใหม่ทั้งหมด และยังเพิ่มระบบยางหุ้มแท่นเครื่อง และระบบป้องกันการสั่นของเครื่องยนต์อีกด้วย


2005 – เพิ่มขนาดเพลาล้อหลังอีก 1 นิ้ว เพื่อความยืดหยุ่นขณะขับขี่


2006 – “XR1200” เปิดตัวที่ยุโรป ถูกออกแบบให้คล้ายกับรถสนาม XR750 ใช้เครื่องยนต์ Evolution V-Twin เดิมๆ จากโรงงาน และเพิ่มระบบจ่ายเชื้อเพลงแบบหัวฉีด "Down Draft DDFI II"


2007 – ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดถูกนำไปใช้กับ “Sportster” ทุกรุ่น


2008 – ปรับเพลาล้อหน้าให้กว้างขึ้นและลดเพลงล้อหลังให้แคบลง เพื่อสร้างสมดุลของรถ แต่ทั้งสองข้างมีขนาดเท่ากันคือ 25 มิลลิเมตร


2010 – กล่อง ECU ถูกดัดแปลงให้ลูกค้าสามารถเลือก/ปรับเปลี่ยนใหม่ได้ ซึ่งกล่อง ECU นับเป็นอะไหล่อีกชิ้นของ “Sportster” ที่ลูกค้านิยมดัดแปลงหลังจากซื้อรถแล้ว


2014 – เช่นเดียวกับปี 1986 และ 2004 ปีนี้ ก็เป็นอีกปีที่ “Sportster” มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ถูกเพิ่มเข้ามา เบรกขนาดกว้างขึ้น ระบบพิเศษสตาร์ทเครื่องแบบไร้กุญแจ (Keyless Entry) เครื่อง Evolution ให้แรงอัดที่รุนแรงขึ้น เค้นสมรรถนะของเครื่องยนต์เต็มกำลัง นอกจากนี้ยังมีระบบเบรก ABS เป็นออปชันเสริมอีกด้วย

 

 

 

 

 



 

 

INTERESTING SPORTSTER SUB-MODELS


NIGHTSTER
ผลิตครั้งแรกในปี 2007 เป็นรถสไตล์เรโทร เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี เป็น “Sportster” ที่มีรูปลักษณ์ทันสมัยที่สุดจากบรรดา“Sportster” ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีรุ่นพิเศษอีก 2 รุ่น ได้แก่ "Iron" และ "Forty-Eight" อีกด้วย

 

IRON
เครื่อง 883 ซีซี V-twin เซตเดียวกับ 1200 Nightster… "Iron" เป็นรุ่นที่ราคาเบาที่สุด เป็นสิ่งล้ำค่าที่ไบค์เกอร์หน้าใหม่ควรจะมีไว้ในครอบครอง

 

FORTY-EIGHT
รถรุ่นนี้ เริ่มผลิตครั้งแรกในปี 2010 ออกแบบในลักษณะ "Nightster Style" ถังน้ำมันรูปทรงคล้ายถั่ว ล้อหน้าแบบซี่ลวด ล้อหลังเพิ่มขนาดยางใหญ่ขึ้น ทำให้ '48' เป็น “Sportster” อีกรุ่นที่ขายดีอย่างเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะในประเทศไทย

 

SEVENTY-TWO
ไม่น่าเชื่อเลยว่ารถสไตล์ชอปเปอร์ปี 1970 ที่เพิ่งผลิตขึ้นในปี 2012 จะไปโผล่ในตลาดรถมือสองอยู่บ่อยครั้ง ต่างความคิดหลากหลายความเห็น บ้างก็ชอบ บ้างก็ไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม แฟนชอปเปอร์ตัวจริงไม่ควรพลาดอย่างยิ่งสำหรับ เจ้า '72' คันนี้

 

XR-750
รถระดับตำนานที่หลายๆ คนชื่นชอบ แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ผู้ที่สนใจจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจที่จะซื้อมัน

 

XR1000
รถที่ค่อนข้างหายากในปัจจุบัน ถ้าบังเอิญไปเจอมันเข้า ก็อย่าลืมที่จะช่วงชิงเอามาไว้ในโรงรถของคุณเสีย! 'XR1000' มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่ปี1980 ซึ่งเป็นปีที่รถถูกผลิตขึ้นครั้งแรก 'XR1000' เคยใช้เข้าร่วมรายการแข่งขันและยังได้รับชัยชนะอีกด้วย

 

XR1200
ตัวรถมีลักษณะคล้าย 'XR-750' แต่มีความทันสมัยมากกว่า ด้วยน้ำหนักตัวรถที่มากและเครื่องยนต์สุดแสนจะธรรมดายังไม่เป็นที่น่าพอใจต่อสิงห์นักบิดเท่าใดนัก แต่หากว่าคุณมีโอกาสได้อัพเกรดเครื่องยนต์ใหม่ รับรองว่า 'XR1200' จะเป็น “Sportster” อีกคันที่สนุกเร้าใจไม่แพ้ใครเลยทีเดียว

 


 

 

 

 

 

 

WHAT’S THE DEAL WITH ALL THE X’S?


รหัส 'X' ใช้เรียกรถมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson ในสายการผลิตรุ่น “Sportster” ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วย 'XL' ยกเว้นรุ่นพิเศษที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งรหัสรถจะขึ้นต้นด้วย 'XR' ยกตัวอย่างเช่น 'XR-750', 'XR1000', 'XR1200' เป็นต้น


จากข้างต้น ก็พอทราบบ้างแล้วว่า 'XL' ใช้สำหรับเรียกรถในสายการผลิตทั่วไปของรุ่น “Sportster” และ 'XR' ใช้เรียกรถ “Sportster” ที่ใช้ในการแข่งขัน นอกเหนือจากนั้น รหัส 'XL' ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวรถอื่นๆ อีก ดังนี้

XL H – "H" หมายถึง รถที่มีการอัดของเครื่องยนต์สูง
XL C – "C" คือ รถ “Sportster” ในสไตล์ 'Off-Road'
XL CH – "CH" เป็นไปตามที่คุณกำลังคิด ในที่นี้ หมายถึงรถสไตล์ 'Off-Road' ที่มีแรงอัดของลูกสูบสูง ทั้งถึกทั้งแรงกันเลยทีเดียว
XL X – "X" เดาได้เลยว่ารถคันนี้มีราคาถูก เนื่องจากรหัสดังกล่าวจะใช้กับ “Sportster” เดิมๆ ที่ไม่มีการตกแต่งตัวรถแต่อย่างใด
XL T "T" คือรหัสที่ใช้เรียก “Sportster” แนวทัวริ่ง
XL H "Hugger" เป็นรหัสที่ใช้เรียก “Sportster” ที่มีเบาะทรงเตี้ย กระบอกโช้คสั้น เหมาะสำหรับไบค์เกอร์รูปร่างเล็กเป็นอย่างยิ่ง




หลังจากทราบรหัสตัวอักษรที่คอยบอกลักษณะของ “Sportster” แนวต่างๆ แล้ว คราวนี้ เรามาดูตัวเลขที่อยู่ด้านหลัง โดยปกติแล้วตัวเลขดังกล่าว คือขนาดความจุของเครื่องยนต์ในรถคันนั้น ยกตัวอย่างในรถ 3 รุ่นนี้

XL900 – คือ “Sportster” ที่ใช้เครื่องยนต์พื้นฐานมีความจุขนาด 900 ซีซี
XR1200 – คือ “Sportster” ความจุเครื่องยนต์ขนาด 1200 ซีซี รถสไตล์ "Flat Tracker" ที่ใช้ในรายการแข่งขันชิงแชมป์
XL883 – คือ “Sportster” ที่ใช้เครื่องยนต์พื้นฐานมีความจุขนาด 883 ซีซี




นอกจากตัวเลขแล้ว ด้านหลังตัวเลขยังมีตัวอักษรอังกฤษอีกหนึ่งตัว เรามาทำความเข้าใจกันว่าตัวอักษรเหล่านั้นหมายถึงอะไร

XL1200N – คือ "Nighster"
XL883L – คือ "SuperLow" Sportster
XL1200C – คือ "Custom" Sportster
XL883R – คือ "Roadster"




คราวนี้ก็ได้ทราบรายละเอียดรหัสรุ่นของ “Sportster” กันไปพอสมควรแล้ว จำไว้เสมอว่า รถแต่ละรุ่นมีข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบแตกต่างกันไป แต่ละรุ่นก็มีเอกลักษณ์ในตัวของมัน ขึ้นอยู่กับว่า “Sportster” รุ่นไหนจะตอบโจทย์ความเป็นตัวคุณมากที่สุด อย่าเสียโอกาสที่จะหามันมาไว้ครอบครองสักคัน

 

 

 

 

 

    

 

4 SPEED VS 5 SPEED


มีหลายข้อถกเถียงถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเกียร์ที่เกิดขึ้นในปี 1991 จากเดิม 4-สปีด เป็น 5-สปีด บางกลุ่มก็บอกว่า สำหรับเครื่อง V-twin ทอร์คจัดๆ ของรถ Harley-Davidson เกียร์ 4-สปีด ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่บางกลุ่มก็เสนอว่า 5-สปีด น่าจะเหมาะสำหรับขี่ในเมืองมากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณชอบแบบไหน ก็มั่นใจได้ว่าทุกช่วงเวลาที่คุณได้เข้าเกียร์ ได้บิดคันเร่ง ได้ฟังเสียงเครื่องยนต์อันเป็นเอกลักษณ์ พนันได้เลยว่าคุณจะหลงรักใน Harley-Davidson อย่างถึงที่สุด


 

 

CHAIN VS BELT


การเปลี่ยนจากการใช้โซ่เป็นระบบสายพาน เริ่มต้นครั้งแรกในปี 1993 ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อเป็นการลดค่าบำรุงรักษา เนื่องจากสายพานมีระยะการใช้งานสูงกว่าการใช้โซ่ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองระบบก็มีข้อได้เปรียบและเสียบเปรียบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าต้องการใช้รูปแบบใด


 

 

EVOLUTION VS IRONHEAD


หลายๆ คนหลงรักเครื่องยนต์แบบ 'Ironhead' แต่ก็คงจะละเลยเครื่อง 'Evolution' ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ให้มีความล้ำสมัยมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังเพิ่มระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดมาให้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม Harley-Davidson ไม่ได้เกิดมาคู่กับนิยามของคำว่า 'ง่ายๆ' เพราะฉะนั้น ถ้ามองถึงต้นตำรับตามแบบฉบับของ Harley แล้ว เครื่องคาบูเรเตอร์แบบ 'Ironhead' ดูจะตอบโจทย์สาวก Harley ตัวจริงมากกว่า

 


 

RUBBER MOUNTED ENGINE VS DIRECTLY MOUNTED ENGINE


ระบบกันสะเทือนและยางรองแท่นเครื่องที่เพิ่มเข้ามาในปี 2004 ถูกนำมาใช้กับ “Sportster” ทุกรุ่น คุณสมบัติพิเศษของมันคือ เป็นตัวช่วยลดการสั่นของเครื่องยนต์ แต่บางรุ่น เช่น "Ironhead" เมื่อทดลองขี่ไปในระยะทางไกลๆ ก็ไม่พบปัญหาการสั่นของตัวเครื่องเท่าใดนัก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและความชอบส่วนบุคคลว่าต้องการรถสไตล์ไหน แบบนุ่มนวลหรือแบบดุดัน

 


 

FRAME AND ENGINE NUMBER


ก่อนซื้อต้องตรวจสอบดูเลขเฟรมและเลขเครื่องก่อนทุกครั้ง ถ้าเลขดังกล่าวไม่ตรงกับตัวรถหรือผิดแปลกไปจากเอกสารที่กำหนดไว้ อาจเกิดปัญหาในภายหลังได้

 


 

883 VS 1200


เครื่องยนต์ความจุ 883 ซีซี มีขนาดเล็กและรีดพละกำลังได้น้อย การเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี หมายความว่าทั้งลูกสูบและกระบอกสูบก็ต้องเปลี่ยนขนาดตามไปด้วย ทำให้รถมีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หากเน้นประหยัดสบายกระเป๋า 883 ซีซี ก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากคุณเป็นคนประเภทบ้าพลัง จะถูกจะแพงขอแรงไว้ก่อน เก็บเงินอีกนิดขยับไป 1200 ซีซี จะตอบโจทย์มากกว่า


 

 

CARBURETTOR VS FUEL INJECTION


ตั้งแต่ปี 2007 “Sportster” ทุกคันเปลี่ยนจากการใช้คาบูเรเตอร์เป็นการจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีด เนื่องจากในหน้าหนาวเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดจะให้สมรรถนะที่ดีกว่าเครื่องยนต์คาบูเรเตอร์ อย่างไรก็ตาม ทาง Harley ก็ยังคำนึงถึงเสียงเครื่องยนต์ตามแบบฉบับเฉพาะของ Harley-Davidson ซึ่งดูจะขัดกับระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดอยู่ไม่น้อย  เพราะถึงแม้ระบบดังกล่าวจะช่วยให้เครื่องมีความนุ่มนวล แต่ก็ต้องแลกมากับเสียงเครื่องยนต์ที่เบาลงด้วย และสำหรับเครื่องที่ใช้คาบูเรเตอร์ หากหมั่นดูแลรักษาดีๆ แล้ว การซ่อมแซม การบำรุง หรืออะไหล่ ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้หนักกระเป๋าเจ้าของจนเกินไป

 


 

CUSTOM VS STOCK


“Sportster” ทุกๆ คัน จะมีความเป็นคัสตอมในสไตล์ของตัวเองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการออกแบบดีไซน์ของเจ้าของเดิมว่าจะเติมแต่ง สร้างสรรค์ผลงานสองล้อของตนอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ซื้อควรสอบถามให้แน่ชัด หากมีบางชิ้นส่วนที่ตกหล่นหรือขาดหายไป


 

 

ELECTRICAL SYSTEMS


ไม่มีใครที่อยากให้ “Sportster” คู่ใจมีอาการ “ดื้อ” ไฟดับ สตาร์ทไม่ติด ฯลฯ ดังนั้นควรตรวจสอบให้มั่นใจก่อนการซื้อ

 

 



 
 

 

 

 

CONCLUSION


จากทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คุณได้พิจารณาก่อนตัดสินใจที่จะเลือกซื้อ “Sportster” มือสองงามๆ สักคัน พึงระลึกไว้เสมอว่า ยิ่งคุณศึกษาตัวรถมากเท่าไร โอกาสที่คุณจะเสียใจในภายหลังก็มีน้อยเท่านั้น... และเมื่อได้มันมาแล้ว ก็จำไว้อีกว่า การที่คุณดูแลมันมากเท่าไร มันก็จะอยู่กับคุณไปนานเท่านั้นเช่นเดียวกัน... มันจะกลายเป็นมรดกตกทอดของครอบครัว กลายเป็นสมบัติที่มีคุณค่ามากเกินกว่าจะเป็นแค่รถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง..

 

 

 

 

 

 

 

 

 

---
ที่มา... silodrome.com
แปลและเรียบเรียงโดย... HD-Playground


Share   Like
Comments