หนทางที่ยังไม่เคยพบเจอกำลังเรียกร้องเราอยู่
อเมริกา... แผ่นดินแม่ผู้ให้กำเนิดฮาร์เล่ย์ ถนนที่เหล่าผู้บุกเบิกได้เปิดเส้นทางอันเหยียดตรง โดยตัดผ่านท้องทุ่งรกร้างที่ตัดเส้นขอบฟ้าซึ่งมองดูเหมือนไกลแสนไกลนั้น ช่างปลุกเร้าหัวใจแห่งการผจญภัยเสียจริง หากได้ลองหาประสบการณ์ในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่งและไม่สามารถบอกเล่าเป็นคำพูดได้สักครั้งหนึ่ง คุณจะรู้ถึงความหมายของการกำเนิดฮาร์เล่ย์ขึ้นที่ประเทศนี้อย่างแน่นอน
ออกท่องอเมริกาอันแสนกว้างใหญ่ไปกับ New Tourer
ซึ่งเป็นโมเดลปี 2014 ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นหัวข้อสนทนาใหญ่ในครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนสเปคอย่างหลากหลายของตระกูล Touring และหนึ่งในนั้น ก็คือ Twin Cooled Engine ซึ่งรวมอยู่ในประวัติศาสตร์ 110 ปี ของฮาร์เล่ย์ด้วย ดังนั้น การที่จะกล่าวว่า มันคือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่สำคัญก็คงไม่ใช่การกล่าวเกินจริง เมื่อหลายปีที่แล้ว เรื่องการนำระบบ Water Cooling มาใช้เป็นเพียงแค่ข่าวลือ แต่การที่ฮาร์เล่ย์ผู้ซึ่งให้ความสำคัญกับสไตล์ดั้งเดิม จะนำเอา Air Cooled และ Water Cooled Engine มาติดตั้งจึงไม่น่าเชื่อเลย จนได้มาเห็นของจริงในงานเปิดตัวและทดลองขี่รถใหม่ที่จัดขึ้นที่เมืองเดนเวอร์ ตอนงานครบรอบ 110 ปี
เมื่อผมได้เห็น Oil Cooling System ของ Twin Cooled Engine ครั้งแรกในงานนั้นก็รู้สึกโล่งใจมาก เพราะว่าครีบเสื้อสูบที่เป็นสัญลักษณ์ของ Air Cooled Engine ที่มีรูปร่างของ Radiator ดูไม่ค่อยสวย ที่เคยเรียงกันอยู่อย่างเป็นระเบียบมาตั้งแต่สมัยก่อนนั้นมองหาที่ไหนก็ไม่เจอ ในทางตรงข้ามเมื่อมองจากภายนอกก็แทบมองไม่เห็นถึงจุดเปลี่ยนแปลงอื่นนอกจาก Air Cleaner Box และชิ้นส่วนตกแต่งภายนอกอย่างเช่น แฟริ่ง ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจนแทบตกใจ หนึ่งในนั้นที่ผมชอบก็คือ Saddlebag ที่สามารถเปิด-ปิดได้ด้วยมือเดียวแบบสบาย ๆ จากเบาะโดยนั่งอยู่กับที่ และการเปลี่ยนแปลงส่วนอื่น ๆ ที่คิดว่าแฟน ๆ ทั่วโลกจะตอบรับเป็นอย่างดี มันทำให้หัวใจผมพองโตกับการรอคอยทดลองขี่ Touring ตัวนี้มาก
วิวัฒนาการที่เห็นแล้วแทบตกใจจึงทำให้ยิ่งอยากขี่ออกไปดูทุกหนทุกแห่ง
ขี่ออกจากชานเมืองเดนเวอร์ไป Highway ทางทิศตะวันตก มุ่งหน้าไปทางที่ราบสูงบีเวอร์ครีค (Beaver Creek) ซึ่งห่างไปอีกประมาณ 160 กิโลเมตร… Twin Cam Engine ไม่เพียงแต่เปลี่ยนเป็นระบบหล่อเย็นเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยน Cam Profile ซึ่งเป็นการปรับปรุงจังหวะเปิด-ปิดวาล์วให้ดีขึ้นและอัตราแรงอัดในหัวสูบเครื่องยนต์ก็เพิ่มสูงขึ้น Air Cleaner Box ก็ขยายความจุมากขึ้นจึงทำให้มีพละกำลังมหาศาล สิ่งที่ทำให้รู้สึกอย่างชัดเจน คือ ช่วงที่แซงบน Highway นั่นเอง เพราะทั้ง ๆ ที่วิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เพียงแค่เปิดปีกผีเสื้อโดยที่ไม่ได้ลดเกียร์ รอบการหมุนเครื่องยนต์ก็เพิ่มขึ้นในพริบตา และวิ่งฉิวไปข้างหน้าอย่างเร็วและแรง เนื่องจากที่อเมริกา ช่วงที่ขี่ทางไกลบนทางด่วนมีบ่อยมาก จึงมักได้ยินว่าลูกค้ามีความต้องการให้เพิ่มสมรรถนะในการแซงมากขึ้น สำหรับที่ญี่ปุ่นแล้วคิดว่าขุมพลังและแฟริ่งขนาดใหญ่ค่อนข้างจะดูโอเวอร์ไปสักเล็กน้อย แต่เมื่อได้มาสัมผัสจึงรู้ว่าสำหรับสถานที่จริงอย่างอเมริกาแล้วมันเป็นสิ่งที่จำเป็น
ความตื่นเต้นที่ระงับไม่อยู่ในการที่จะได้เข้าร่วมงานทดลองขี่
ยังคงอยู่จนมาถึงวันจริงที่เข้าสู่เมืองมิลวอกี
เมื่อจบงานทดลองขี่ที่เดนเวอร์แล้ว เหล่าสื่อมวลชนทั้งหลายก็มุ่งหน้าไปทางเดียวกัน ...สู่เมิลวอกี (โดยเครื่องบิน) เมืองที่กำเนิดฮาร์เล่ย์เมื่อ 110 ปีก่อน ซึ่งได้มีการจัดงานเทศกาลมาหลายสัปดาห์แล้ว เมื่อเดินไปก็เจอแต่ฮาร์เล่ย์มารวมตัวกัน เมื่อมองดูทะเบียนรถ ก็รู้ว่าไม่ใช่มีเพียงแต่ฮาวายหรืออลาสก้าเท่านั้น แต่ยังมีผู้กล้าแดนไกลซึ่งมาจากต่างประเทศด้วย เมื่อเข้ามาในเมืองก็เจอป้าย "Welcome Home" ตั้งอยู่ ถนนรอบ ๆ โรงแรมก็เต็มไปด้วยฮาร์เล่ย์ เข้าไปผับไหนก็เจอแต่คนขี่ฮาร์เล่ย์ที่สวมเสื้อกั๊กกลุ่ม ในตอนเย็นแต่ละพื้นที่ก็จะปิดถนนจัดงาน มีการตั้งแผงลอยเรียงรายและมีการแสดงสดของวงดนตรีร็อค เป็นต้น และแล้วในเมืองก็กลายเป็นสภาพงานเทศกาลอย่างแท้จริง ที่พิพิธภัณฑ์ฮาร์เล่ย์ได้จัดเคาท์ดาวน์งานเฉลิมฉลองครบรอบ 110 ปี ในวันที่ 29 สิงหาคม เวลา 5 โมงเย็น บนเวทีมีครอบครัวเดวิดสันทุกคนขึ้นมายืนประกาศสตาร์ทพร้อมกันกับผู้ชมเป็นจำนวนมาก จากนี้อีกสี่วัน ความคลั่งไคล้ที่โอบล้อมเมืองมิลวอกีไว้ก็จะทับทวีมากขึ้น
ความครึกครื้นทั้ง 4 วัน อันเปี่ยมไปด้วยความรักที่มีต่อฮาร์เล่ย์
ในช่วงระยะเวลาจัดงาน ไม่ว่าจะไปทางไหนก็เจอแต่งานน้อยใหญ่ต่าง ๆ ที่มีแต่ฮาร์เล่ย์เต็มไปหมด ในนี้ก็มีการเฉลิมฉลองรำลึกวันครบรอบ 110 ปี ฮาร์เล่ย์ที่เป็นงานใหญ่ ๆ เช่น การแสดงสดของ Aerosmith หรือ Title Match "UFC" ที่เป็นศิลปะการต่อสู้แบบผสม เป็นต้น ราวกับมิลวอกีเป็นสถานที่จัดงานทั้งหมด การแสดงมีเยอะมากจนดูได้ไม่ทั่ว แม้กระนั้น การที่ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์เจ้าหนึ่ง จะกลืนเมืองทั้งเมืองให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั้นเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและเกิดขึ้นไม่ได้ในญี่ปุ่น จึงทำให้รู้สึกว่าคนเมืองนี้รักฮาร์เล่ย์มาก และฮาร์เล่ย์ยังได้สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลกมากมาย ไฮไลท์ความคลั่งไคล้ในระยะเวลาทั้งหมด 4 วัน คือ พาเหรดใหญ่ที่เกิดจากฮาร์เล่ย์ สองข้างทางในเมืองเต็มไปด้วยผู้ชมมากมาย ทุกคนมีป้าย Handmade ซึ่งแสดงความรักที่มีต่อฮาร์เล่ย์ และแล้วฮาร์เล่ย์หลายหมื่นคันก็มา ผู้คนต่างยื่นตัวไปข้างหน้า โบกไม้โบกมือและตะโกนอวยพรอย่างสุดเสียง พาเหรดฮาร์เล่ย์ที่กลับมาที่เมืองนี้จากทั่วโลกได้เคลื่อนตัวเป็นเวลามากกว่าหนึ่งชั่วโมงอย่างไม่ขาดสาย
---
โดย... HD-Playground
แปลและเรียบเรียงจาก...
นิตยสาร Club Harley
ฉบับที่ 160 | เดือนพฤศจิกายน 2013