Harley-Davidson FLTRI Road Glide
แม้แฟริ่งที่ดูใหญ่ของรุ่น Road Glide จะให้ความรู้สึกเทอะทะ แต่มันก็ให้ความสะดวกสบาย และความสนุกสนานในการขับขี่ จากผลการทดสอบของนักขี่ ตัดมาจากบทความจากนิตยสาร Motorcycle Cruiser ฉบับเดือนตุลาคม ปี 2002 ดูได้ที่นี่
ตอนที่ผมขอยืมรถจาก Harley มาขี่บน Blue Ridge Parkway ใจจริงแล้วผมอยากได้ Road King มากกว่า แต่เมื่อถึงวันไปรับรถ ทางศูนย์ Harley ถามว่าผมเอา Road Glide ไปแทนได้ไหม ผมตอบตกลง แม้ว่าสองสามปีก่อนผมจะเคยขี่มันมาก่อน แต่ก็ไม่รู้สึกประทับใจเสียเท่าไร
ถึงแม้ว่าตัวรถจะสร้างด้วยเฟรมและเครื่องยนต์แบบเดียวกันกับ Harley Touring คันอื่นๆ แต่ Road Glide ก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัวในหมู่รถ Harley ด้วยกัน เป็นรุ่นเดียวที่ใช้แฟริ่งแบบ Frame-Mount ยึดจับที่ตัวเฟรมโดยตรง แทนการยึดจับที่แผงคอหน้าในชุดแฟริ่งแบบ Bat Wing ที่ใช้ในรุ่น Electra Glide รูปแบบ Fairing Frame-Mount ถูกเริ่มต้นนำมาใช้ในรถรุ่น Tour Glide ในปี 1980 เป็นครั้งแรก
ทีแรกผมไม่ค่อยชอบแฟริ่งใหญ่ที่มีไฟหน้าสองดวง โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงแนวคิดที่ว่าตัวรถควรจะต้องมีกล่องท้าย หรือ Tour-Pak ในรูปแบบรถ Electra Glide ซึ่งกลมกลืนกับรถสไตล์นี้ แต่กับรุ่น Road Glide กล่องท้ายกลับกลายเป็นออพชั่นเสริมไป ซึ่งในความคิดของผม ผมคิดว่าตัวรถไม่ควรขาดสิ่งนี้ เพราะการที่รถมีแฟริ่งที่ใหญ่น่าจะเป็นรถที่ถูกสร้างมาเพื่อใช้ในการขับขี่บนเส้นทางที่ยาวไกลบนถนนใหญ่ และควรที่จะพร้อมบรรทุกสัมภาระมากมายในระหว่างเดินทางไกล
อย่างไรก็ตาม หนึ่งสัปดาห์ให้หลัง กับระยะทางกว่า 2000 ไมล์ Road Glide ก็เปลี่ยนความคิดของผมโดยสิ้นเชิง นอกจากการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการป้องกันลมตีจากแฟริ่งหน้าที่ใหญ่ขึ้น และระบบเสียงสเตอริโอที่น่าชื่นชมแล้ว ก็แทบที่จะมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างรุ่นนี้กับ Road King ที่ผมใฝ่ฝันจะได้ขี่เลย โครงสร้างโดยรวมก็ไม่ต่างกันนักเช่นเดียวกับตัวกระเป๋าหลัง ที่วางเท้า ระบบดิสท์เบรคหน้าคู่และดิสท์เบรคหลังเดี่ยว เป็นต้น แต่ทว่า Road Glide ก็ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจอยู่ดี
ถึงแม้ตัวรถจะมีน้ำหนักมากกว่ารุ่นอื่นๆซักหน่อย อันเนื่องมาจากชุดแฟริ่งขนาดใหญ่ แต่ Road Glide ก็ออกแบบระยะเอียงตัวเพื่อเลี้ยวเข้าโค้งได้ดี กว่า Road King ทำให้สามารถเทรถได้ในองศาที่มากกว่า แม้จะมีอาการกระตุกบ้างเล็กน้อยตอนเข้าโค้งแรงๆ แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร ระบบเบรกก็ดีพอตัว ทว่าชุดมือเบรคจะค่อนข้างใหญ่และอาจจะจับไม่ถนัดมือสำหรับคนที่อุ้งมือเล็ก และนักขี่บางคนพบว่าแป้นเบรคอาจจะใหญ่ไปสำหรับการที่จะยกเท้าเหยียบในระหว่างมุดอยู่บนถนน แต่กระนั้นเท้าไซซ์ 13 ของผมแทบจะไม่มีปัญหาเรื่องแป้นเบรคเลย
ตัวเครื่องออกแบบมาให้รับมือกับแรงลม และสภาพอากาศได้ดี ส่วนช่วงแฟริ่งล่างที่เปิดโล่งที่ถือว่าเข้าท่าในช่วงสภาพอากาศอุ่นที่ลมจะพัดผ่านตัวรถในขณะขับ แม้ว่ากระจกกันลมที่เตี้ย (สามารถเปลี่ยนเป็นแบบสูงได้) จะไม่ได้ต้านลมที่พัดตีหมวกกันน๊อคได้ทั้งหมด แต่มันก็สามารถกันลมปะทะ และก็ไม่ได้บดบังวิสัยทัศน์ข้างหน้าเลย ไม่ว่าจะขับฝ่าฝน หรือกลุ่มแมลงที่บินผ่านมาก็ตาม และการออกแบบมาตรวัดความเร็วที่สมบูรณ์แบบก็สามารถใช้งานได้อย่างเยี่ยมยอด เช่นเดียวกับระบบเครื่องเสียงที่ติดมาให้จากโรงงาน ระบบไฟหน้าคู่ก็ให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ได้ดีกว่าแบบไฟเดี่ยวโดยใช้กำลังวัตต์เท่ากัน
Road Glide ใช้กระเป๋าหลังแบบเดียวกับรถรุ่น Touring อื่นๆของ Harley ด้วยระบบเปิดที่ดูแล้วค่อนข้างยุ่งยาก แต่แท้จริงแล้วมันใช้ง่าย และมีระบบล๊อคที่มีประสิทธิภาพมากทีเดียว ผมยัดของลงไปค่อนข้างมากแต่ฝาปิดกล่องก็สามารถกันความชื้นได้ดีถ้าต้องเจอกับพายุฝน ตัวกล่องรุ่นนี้ค่อนข้างแคบ ทำให้ไม่สามารถใส่ของชิ้นใหญ่ๆบางชิ้นได้ และถ้าเทียบกันแล้ว ความจุของกล่องรุ่นนี้คงจะอยู่ในระดับมาตรฐานถ้าเทียบกับกล่อง Hard Case ของรถยี่ห้ออื่นๆในท้องตลาด แต่ที่สำคัญคือก็ถอดเข้าออกได้ง่ายด้วยการหมุดสลักแค่สองตัวในกรณีที่คุณอยากทำความสะอาดรถ หรือเข้าถึงตัวล้อหลัง
ตำแหน่งที่นั่งก็รับกับรูปร่างสูง 177 ซม. ของผมเป็นอย่างดี และแฮนด์บาร์ก็จับสบายมือ ระบบยางรองแท่นเครื่องก็ลดอาการสั่นของของตัวเครื่องได้ดีมาก แต่ถ้าให้พูดถึงเรื่องความสะดวกสบาย เรื่องเดียวที่ผมขอบ่น คือ เบาะนั่ง ที่ดูเหมือนจะนุ่มกว่าเบาะของรุ่น Road King ทำให้ยุบตัวเร็วมากถ้าต้องขี่ทั้งวัน ยังไงซะผมก็คงต้องเปลี่ยนเบาะแน่นอนถ้าผมได้มีโอกาสเป็นเจ้าของรถรุ่นนี้
อัตราการบริโภคน้ำมัน ของ Road Glide ก็ทำออกมาดีกว่าของรุ่น Road King (และดีกว่าของรถคันอื่นๆ ที่ผมเคยขี่ซะอีก) ทั้งนี้น่าจะมาจากระบบแอโรไดนามิคของตัวแฟริ่งนั่นเอง ซึ่งรถคันนี้กินน้ำมันประมาณ 50 ไมล์ต่อแกลลอน และวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 200 ไมล์ เมื่อเติมน้ำมันเต็มถังขนาด 5 แกลลอนที่ติดมาจากโรงงาน เครื่องยนต์ขนาด 1450 ซีซีแบบ Big Twin สามารถทำระยะทางและให้กำลังได้ดีในระดับของเครื่องยนต์ขนาดกลาง ทั้งที่ใช้ระบบแบบโบราณ ก้านกระทุ้งคู่ต่อ 1 สูบเท่านั้น
สรุปก็คือ ผลการทดสอบรถรุ่นนี้ออกมาในแบบที่ผมคาดหวังไว้ ทั้งตัวเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการใช้งาน และการขับขี่ที่ราบรื่นสะดวกสบาย มันไม่ได้ทำให้ผมประหลาดใจ หรือมีเรื่องให้บ่นเลย ที่จริงแล้วมันทำให้ผมเจอรถคันโปรดคันใหม่เข้าแล้ว
|